ถนนรัชดาภิเษกเป็นถนนที่สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก (Silver Jubilee) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำรัสเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรเป็นครั้งแรก โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นเป็นถนนวงแหวนเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก[1] คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2514 ให้จัดสร้างถนนวงรอบขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 25 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2514 โดยรัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนนวงรอบว่า "ถนนรัชดาภิเษก" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก ณ บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพตัดกับถนนเจริญกรุงเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2514 บริเวณแนวถนนตัดจากสะพานกรุงเทพผ่านถนนเจริญกรุงและต่อเชื่อมจนครบวงแหวน ปัจจุบันถือเป็นถนนวงแหวนรอบใน โดยมีถนนกาญจนาภิเษก (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9) เป็นถนนวงแหวนรอบนอก ถนนวงแหวนรอบในส่วนที่ 1 เริ่มจากทางแยกท่าพระถึงถนนเพชรบุรี ส่วนที่ 2 จากถนนพระรามที่ 4 ถึงทางแยกท่าพระ รวมระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร และมีพิธีเปิดถนนรัชดาภิเษกใน พ.ศ. 2519 แม้ว่าจะมีการเปิดใช้ถนน แต่ก็ยังเป็นถนนวงแหวนที่ไม่สมบูรณ์มากนัก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินในการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลก็ดำเนินการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษกส่วนที่เหลือเรื่อยมา จนกระทั่งแล้วเสร็จเป็นถนนวงแหวนอย่างสมบูรณ์ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เมื่อปี พ.ศ. 2536
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น